คำนำ
อาตมาพระมหานพดล สิริวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตะเมาะ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๙ หมู่ ๙ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมจากครูบาอาจารย์ นับเป็นเวลา ๓๐ กว่า ปี ได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๕ ขณะเมื่อมีพรรษาได้ ๒ โดยได้รับความเห็นชอบจากครูบาวงค์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อนุญาตให้มาอยู่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมได้อาศัยตำราและสอบถามผู้รู้ทั้งหลาย แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ โดยที่มิได้ไปปฏิบัติกับครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นเวลานาน โดยส่วนตัวคิดว่าธรรมะเป็นของกลาง ไม่ควรจะยึดติดกับดรูบาอาจารย์องค์ไหน จึงได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ดูว่าตนเองชอบจริตนิสัยเช่นไร อันเป็นการปฏิบัติเพื่อความสบายกายและใจของตนเอง ก็จะน้อมนำมาฝึกปฏิบัติ
จากการที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น โดยส่วนตัวคิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครูบาอาจารย์ผู้รู้ ชี้แนวทางที่ถูกต้อง เพื่อผลในการปฏิบัติจะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป เพราะครูบาอาจารย์บางท่านได้กล่าวไว้ว่า การปฏิบัติธรรมถ้าทำถูกวิธี ปฏิบัติเพียงวันเดียวก็สามารถสำเร็จผลอันเกิดจากการปฏิบัติได้ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกวิธี จะปฏิบัติสักร้อยปีก็ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ได้เลย ดังนั้นจึงควรแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้รู้ เพื่อแนะนำการปฏิบัติให้ตนเองมีความเจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆขึ้นไป
สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ แปลว่า ธรรมอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมที่ผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ พึงน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติให้บังเกิดผลที่ดียิ่งๆขึ้นไป ซึ่งเป็นพระดำรัสของพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย ซึ่งหมายความว่า ธรรมชาติของจิตที่ไม่ผูกพันต่อสิ่งใตๆ เป็นธรรมชาตินำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง การที่จะเห็นคุณของธรรมบทนี้ได้ ต้องเห็นด้วยการลงมือปฏิบัติ จนแจ้งประจักษ์ในใจของตนเองจึงจะเชื่อในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
โมกขุบายวิธี ที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้แต่งและเรียบเรียงขึ้นมานี้ อาตมาได้อ่านดูแล้วเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเพื่อหวังความพ้นทุกข์ หลวงปู่ท่านได้จำแนกแยกให้เห็นถึงผลของการปฏิบัติ เช่น ผู้เข้าถึงสมาธิและฌานนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รู้ เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง และความเจริญก้าวหน้าของตนเอง
โดยส่วนตัวแล้วได้มีโอกาสพบหลวงปู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๓ ที่วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เพียงครั้งเดียว และไม่เคยพบท่านอีกเลย ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่ได้ศึกษาบ้าง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้ได้มีโอกาสฟังธรรมบรรยายและอ่านหนังสือที่หลวงปู่ได้แต่งและเรียบเรียงไว้ โดยเฉพาะโมกขุบายวิธีเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาไม่มาก แต่รวมรวมแนวทางการปฏิบัติ อุปสรรคของการปฏิบัติ วิธีแก้ไข และผลอันเกิดจากปฏิบัติ ซึ่งอาตมามีความเห็นว่าหลวงปู่ได้แต่งและรวบรวมไว้ดีมาก เหมาะสำหรับเป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรม แก่ผู้สนใจในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะอ่านไม่ค่อยเข้าใจในเบื้องต้น แต่จะเป็นคู่มือให้กับผู้สนใจใฝ่ธรรมปฏิบัติได้ในโอกาสต่อไป
หวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะมีประโยชน์แก่ผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์บ้างไม่มากก็น้อย ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ผู้ใฝ่ธรรมทุกท่านเทอญ
ขอเจริญพร
( พระมหานพดล สิริวฑฺฒโน )
เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตะเมาะ
๒๙ กันยายน ๒๕๕๒
แสดงธรรมโดย พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
คำปรารภ
เรื่องแนวปฏิบัติธรรมที่มีชื่อว่า "โมกขุบายวิธี" ซึ่งสำเร็จเป็นเล่มเล็กๆ ปรากฏอยู่ในมือของท่านได้นี้ เพราะอาศัยคำปรารภของผู้หวังดีในแนวปฏิบัติธรรมทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยเฉพาะเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธมฺมธโร พิมพ์) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระนคร สมัยเมื่อท่านยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณดิลก รักษาการวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้เขียนแนวปฏิบัติธรรม แต่ข้าพเจ้าไม่อาจจะรับสนองเจตนาดีของท่านได้ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่ใช่นักเขียน ทั้งประกอบด้วยอ่อนการศึกษา แม้กระนั้นต่อมาก็ยังมีท่านผู้ปรารถนาดีขอให้เขียนเรื่องทำนองนั้นเรื่อยๆ มา
เมื่อข้าพเจ้ามาพิจารณาดูระยะกาลจวบกับอายุพรรษาค่อนข้างมาก อยู่ไปอีกไม่กี่มากน้อยก็คงจะตาย ควรจะทำประโยชน์อะไรไว้ในพระพุทธศาสนาบ้าง ทั้งประกอบด้วยในสมัยนี้ก็มีนักปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้ามากพอ จึงตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้น พอเขียนแล้วอ่านดูชักจะนอกแบบนอกตำราไป นี่ก็อยู่ที่ศึกษาน้อยหรืออ่อนการศึกษานั่นเอง แต่ท่านผู้หวังดียังคงรบเร้าให้เขียนในแนวนั้นร่ำไป จึงจำใจต้องเขียน ครั้นเขียนเสร็จแล้วได้ส่งต้นฉบับถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เพื่อกรุณาช่วยแก้ในอรรถพยัญชนะที่ควรจะแก้ ซึ่งท่านก็ได้กรุณาแก้ไขต่อเติมและจัดระเบียบถ้อยคำให้สละสลวยขึ้น
เรื่อง "โมกขุบายวิธี" นี้ แสดงแนวปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ดำเนินอยู่ในสายนี้ทั้งสิ้น แต่บางคนเห็นแล้วพูดหรือบอกคนอื่นไม่ถูกเพราะไม่ชำนาญก็มี ไม่สนใจก็มี ไม่อยากพูดเพราะรำคาญก็มี ส่วนผู้สนใจ แต่ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร ใช่หรือมิใช่ จะถือปฏิบัติหรือจะทิ้งก็ทำไม่ถูก เพราะเป็นของเกิดในใจ ยากที่จะทำด้วยกายและพูดด้วยวาจา หากไม่มีอาจารย์ หรือมีแต่ไม่เคยปฏิบัติด้วยตนเองมาก่อน ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร บางทีเห็นเป็นเรื่องแปลกแล้วกลับเข้าใจว่าเป็นของดี ส่งเสริมกันจนเสียผู้เสียคนไปก็มี
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมแนวปฏิบัติ พร้อมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติและวิธีแก้ไขเท่าที่สามารถรวบรวมมาได้ หวังว่าคงจะเป็นเครื่องมือแก้ไขได้บ้างไม่มากก็น้อย ข้อเขียนนี้หากจะมีการคลาดเคลื่อนจากหลักปริยัติแล้ว ก็ขอท่านผู้รู้หลักนักปราชญ์ได้ให้อภัยด้วย เพราะทางการปฏิบัติธรรมเป็นของกว้างขวางมาก ยากที่ผู้ไม่คงแก่เรียนจะสงเคราะห์เข้าใจในหลักปริยัติได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้โปรดกรุณาช่วยตรวจแก้ปรับปรุงจัดการให้เรื่อง "โมกขุบายวิธี" นี้สำเร็จเป็นหนังสือขึ้นมาได้โดยเรียบร้อยนั้น ข้าพเจ้าจึงจารึกพระคุณท่านไว้ในดวงใจโดยมิลืมเลือน หากประโยชน์อันใดจะพึงเกิดมีแต่เรื่อง "โมกขุบายวิธี" นี้ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายบูชาพระคุณท่านด้วยความเคารพยิ่ง
พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
วัดเจริญสมณกิจ
จังหวัดภูเก็ต
๑ มีนาคม ๒๕๐๕
โมกขุบายวิธี
อารัมภบท
สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา
พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด พุทธศาสนิกชนทั้งหลายย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระพุทธองค์ได้ประกาศมาแม้นานเป็นเวลา ๔๕ ปีซึ่งว่าโดยปิฎกมี ๓ ปิฎก ว่าโดยขันธ์มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่เมื่อรวมใจความลงในหลักใหญ่ก็มีอยู่ ๓ ประการ คือทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทรงสอนให้บำเพ็ญความดี และทรงสอนให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งทั้งสามหลักนี้ท่านผู้รู้ทั้งหลายทั่วไปยอมรับรองว่าถูกต้องใช้ได้
เป็นที่น่าปลื้มใจแก่พุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง ที่พากันได้พระศาสดาผู้วิเศษเพราะโดยพระชาติ พระองค์เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาต โดยพระวงศ์เป็นโคตมโคตร เมื่อจะเสด็จออกบรรพชามิใช่เพราะไร้ญาติขาดมิตร คิดเลี้ยงตัวเองและตระกูลไม่ไหว ที่จริงนั้นพระองค์ทรงบริบูรณ์ด้วยมไหศวรรย์สมบัติ เพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณที่มีอยู่ในโลกนี้ทุกอย่าง เสด็จออกบรรพชาด้วยการหลั่งพระอัสสุชลธารของพระราชบิดาและพระประยูรญาติแท้ๆ
ในด้านศิลปวิทยาเล่า เมื่อยังทรงพระเยาว์ก็ปรากฏว่าพระองค์เป็นยอดเยี่ยมในราชตระกูล คู่ควรแก่ตำแหน่งรัชทายาท ส่วนพระรูปลักษณ์ก็ถูกต้องตามมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ซึ่งพวกพราหมณ์นิยมกันนักในสมัยนั้นว่า ผู้มีมหาปุริสลักษณะครบถ้วนเห็นปานนั้น ต้องมีคติเป็น ๒ คือ หากอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นจักรพรรดิราช มีอำนาจครองชมพูทวีป มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ถ้าออกบรรพชา จักได้เป็นศาสดาเอกในโลก หามีศาสดาอื่นทั้งในมนุษย์และเทวดาเสมอเหมือนได้ไม่
พระองค์เสด็จออกบรรพชาด้วยทรงปรารภปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญหน้าของเหล่าคณาจารย์อยู่ในสมัยนั้น คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญอันนักปราชญ์ไม่อาจตำหนิติโทษได้ โดยทรงยกปัญหาชีวิตนั้นขึ้นมาขบคิดหาวิธีแก้ไข ด้วยพยายามทดลองตรวจสอบตามหลักวิชาที่ทรงศึกษามาด้วยพระองค์เองและทรงบำเพ็ญ
ทุกรกิริยาที่คณาจารย์พากันเชื่อถือว่า เป็นอุบายแก้ปัญหาชีวิตได้จริง
เมื่อพระองค์ตั้งสติทรงประคองพระองค์ ทรงทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยาให้แรงกล้าด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทรงผ่อนกลั้นลมหายใจเข้า-ออก ครั้นลมเดินไม่สะดวกทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ ให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้อย่างนั้นทุกขเวทนาก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้ ยังทรงมีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน เร่งปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน แต่ครั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญไปๆ ทรงเห็นว่านี่ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีเป็นอดพระกระยาหารตามที่เขาเข้าใจกันว่าอาหารเป็นเหตุเกิดของกิเลส เริ่มผ่อนเสวยแต่วันละน้อยๆ บ้าง เสวยพระกระยาหารละเอียดบ้าง จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าหลุดร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนล้ม เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระกายให้ลำบาก เป็นกิจยากที่ผู้มีศรัทธาทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันหรืออนาคตจะทำให้ยิ่งไปกว่าพระองค์ได้แล้ว ทรงลงสันนิษฐานว่านี่ไม่ใช่ทางตรัสรูแน่แล้ว และทรงหวนระลึกถึงคราวพระประยูรญาติทรงกระทำการแรกนาขวัญในเวลาบ่ายที่พระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติอยู่หลังม่านภายใต้ต้นหว้าอันปราศจากพระพี่เลี้ยงและนางนมใดๆ ทั้งหมด ยังปฐมฌานให้บังเกิดขึ้นจนเกิดอัศจรรย์บันดาลให้เงาต้นหว้าตรงอยู่ดุจในเวลาเที่ยงนั้นว่าอาจเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง จึงทรงเลิกทุกรกิริยาเสียด้วยประการทั้งปวง กลับเสวยพระกระยาหารคือข้าวสุกขนมกุมมาสโดยปกติ
ฝ่ายฤๅษีเบญจวัคคีย์ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อพระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้วจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่ และพากันคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติทุกเช้าค่ำด้วยหวังว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมใดแล้วจักทรงสั่งสอนให้ตนบรรลุธรรมนั้นบ้าง แต่ครั้นเห็นพระองค์ทรงละทุกรกิริยาเสีย กลับเสวยพระกระยาหารตามเดิม ต่างก็หมดศรัทธาผิดหวัง ได้พากันหลีกไปเสียจากที่นั้น
เมื่อพระองค์เสวยพระกระยาหารบำรุงพระวรกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้อย่างเดิมแล้ว ทรงเริ่มความเพียรเป็นไปในจิตจนได้ฌาน ๔ ญาณ ๓ โดยลำดับ ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก ในปีก่อนพุทธศก ๔๕ และแล้วทรงประกาศสัจธรรมแก่เวไนยสัตว์ ซึ่งมีหลัก ๓ ประการดังกล่าวมาข้างต้นนั้น รวมความว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่ดีเลิศ เพราะประกอบด้วยองค์คุณ ๖ ประการ คือ
๑.เป็นผู้เลิศด้วยชาติและตระกูล
๒.ทรงมีความสามารถชั้นยอดเยี่ยม
๓.เสด็จออกทรงผนวชด้วยเหตุผลที่สมควร
๔.ได้ทรงทดสอบตามหลักวิชาในวิธีต่างๆ ด้วยพระองค์เองจนสิ้นสงสัย
๕.เมื่อตรัสรู้ไม่ใช่เพราะหลักวิชาเหล่านั้น แต่เป็น "สยัมภูญาณ" ตรัสรู้ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง
๖.แม้ตรัสรู้แล้วก็ไม่ทรงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ยังได้ทรงแสดงหลักคำสอนเป็นหลักใหญ่ไว้ ๓ ประการ และทรงวางโครงการสอนให้เข้าถึงหลักนั้นอีก ๕ ประการอย่างมีระเบียบ
ข้อที่น่าภูมิใจยิ่งก็คือ พระศาสดาของเรามีพระประวัติเป็นหลักฐานแน่นอน ชาวโลกไม่ว่าจะเลื่อมใสในพระองค์หรือไม่ ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระองค์เป็นโอรสนัดดาของใคร อุบัติในตระกูลไหน เป็นชาติอะไร เสด็จออกทรงผนวชแล้วมีพระจรรยาอย่างไร ซึ่งทั้งนี้เมื่อมีคนอื่นถามถึงเราก็ไม่ต้องหนักใจตอบได้ทันที เพราะพระประวัติของพระองค์ นอกจากมีหลักฐานยืนยันอยู่แล้ว ยังมีลีลาน่าอ่านน่าสนใจ มีทั้งคดีโลกและคดีธรรมครบถ้วนอยู่ในตัว
อันคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงประกาศนั้น มีเหตุผลสมควรแก่การปฏิบัติ ทนต่อการวิจัยของผู้รู้ทั้งหลาย เป็นนิยยานิกธรรมนำพาให้ผู้รู้แล้วปฏิบัติตามเป็นคนดีได้ทันตาเห็น แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่พระพุทธศาสนาประหนึ่งเพชรน้ำหนึ่ง เป็นของดีมีคุณวิเศษ แต่มีคนนิยมนับถือน้อย ไม่สมควรกับว่าคนสมัยนี้สมองใส เชื่อแต่สิ่งที่มีเหตุผล และในจำนวนที่นับถือนั้น หากจะกลั่นเอาแต่ผู้นับถือเข้าถึงหลัก ๓ ประการได้จริงๆ ก็ยิ่งจะเหลือน้อยนิดเดียว น่าแปลกมากว่า ของดีแต่มีคนนิยมน้อย
ความจริงพระศาสดาเป็นผู้ดีเลิศ แม้คำสั่งสอนของพระองค์ก็เป็นนิยยานิกธรรมนำผู้รู้แล้วปฏิบัติตามให้บรรลุมรรคผลได้จริง แต่มีผู้นับถือได้บรรลุมรรคผลจำนวนน้อย นั้นย่อมเป็นเพราะความเห็นของผู้นับถือผิดเพี้ยนปฏิบัติไม่ตรงกับคำสอน ถ้าคำสั่งสอนของพระองค์เป็นของผิดเพี้ยนแล้ว พุทธสาวกที่ปฏิบัติตามก็จะไร้ผลไปทั้งหมด แต่นี่ยังมีผู้ได้บรรลุมรรคผลอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้คำสอนก็ยังมีอายุยั่งยืนมาตั้งสองพันกว่าปี ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้นย่อมเป็นพยานยืนยันว่าคำสอนของพระองค์ไม่ใช่ของปลอม แต่เป็นหลักสัจธรรมที่ดีจริง มีสาระมั่นคงอยู่ในตัวของมันเองอยู่ตลอดกาล
ดังนั้น ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ผู้รับฟังและผู้รับการอบรมมีความเห็นผิดเพี้ยนฟังไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงของหลักธรรม เช่น พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนว่าร่างกายของคนเรานี้เป็นก้อนทุกข์ มีชาติเป็นต้นและมีมรณะเป็นที่สุด เป็นของน่าเกลียด ควรเบื่อหน่าย ควรปล่อยวาง ไม่ควรยึดถือว่าเป็นของตน เพราะมันไม่เป็นไปในอำนาจของตน แต่มีใครบ้างที่ฟังถูก เข้าใจตามความจริงนั้น เพราะความเห็นผิดเพี้ยนนั่นเอง จึงฟังผิดคิดออกนอกทางตั้งหน้าแต่บำรุงบำเรอก้อนทุกข์ฝืนธรรมดา ด้วยความลุ่มหลงมัวเมานานัปการ ฝันหาแต่ความสุขในทุกข์โดยผิดทาง ต้องได้รับความทุกข์โดยทวีคูณ เมื่อเรามีความเห็นผิดเพี้ยนเป็นทุนอยู่แล้ว แม้จะฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสัจธรรม ก็จะกลายเป็นผิดเพี้ยนไปหมด ไม่สามารถทำความเข้าใจในสัจธรรมให้ถูกต้องได้ "ของปลอมจะเป็นวัตถุหรือคำสั่งสอนของใครก็ตามย่อมไร้ค่า หากใครมีของปลอมไว้มากก็ทุกข์มาก ..."
ดังนั้น การเผยแพร่สัจธรรมให้เข้าถึงจิตของคน จึงเป็นของทำได้ยากทุกยุคทุกสมัย เนื่องด้วยสัมปทาทั้ง ๓ ไม่พร้อมมูล คือ
ผู้สอนไม่เข้าใจถึงแก่นธรรม และไม่มีอุบายสอนให้คนอื่นเข้าใจในธรรมนั้นด้วย ๑
ผู้รับฟังไม่ตั้งจิตแน่วแน่ให้เข้าถึงภูมิธรรมพอที่จะรับฟังคำสอนนั้นได้ ทั้งยังมีความเห็นผิดเพี้ยนเป็นทุนอยู่ ๑ และคำสอนที่เขานำมาสอนนั้นเป็นของปลอม ๑
แท้จริงพระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงประกาศสัจธรรมนั้น ทรงหนักพระหฤทัยว่าจะไม่มีผู้เข้าใจในสัจธรรม เพราะเป็นของลึกซึ้งละเอียดยิ่งนัก ยากที่คนผู้มีกิเลสหนาจะตามรู้ได้ แต่อาศัยพระมหากรุณาคุณ เมื่อทรงพิจารณาโดยรอบคอบแล้วก็ทรงทราบได้ว่า สัมปทาทั้ง ๓ ยังมีอยู่พร้อม จึงทรงประกาศสัจธรรมถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางที่จะทำให้ถึงความดับทุกข์ หลังจากนั้นได้ทรงประมวลหลักคำสอนทั้งหมด มาประกาศในท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ดังจะบรรยายต่อไป
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
คำสอนเริ่มต้นตั้งแต่ทรงประกาศพระศาสนา และจะทรงประกาศต่อไปนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักวิชาสำหรับศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และทรงวางระเบียบปฏิบัติให้รู้ว่า อะไรควรละ อะไรควรบำเพ็ญ อะไรเหนือสิ่งควรละควรบำเพ็ญ หลังวิชานั้นคือ ไตรลักษณญาณ ซึ่งเราทุกคนควรรู้ เมื่อรู้แล้วเรียกว่าพระศาสนา
ไตรลักษณญาณ
หลักวิชาสำหรับให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นทุกขัง และสิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและทั้งที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งเป็นอนัตตา เรียกว่าไตรลักษณญาณ
ข้อว่าเป็น อนิจจัง ก็คือสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ไม่มีอะไรเป็นตัวมันเอง ซึ่งต้องหยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง
ข้อว่าเป็น ทุกขัง คือสิ่งทั้งปวงมีลักษณะทนอยู่ไม่ได้ มีอันย่อยยับแตกดับไปในตัวมันเอง ล้วนน่าเกลียดน่าเบื่อหน่ายน่าระอา อยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น
ข้อว่าเป็น อนัตตา ก็คือสิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่จิตใจควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ถ้าไปยึดเข้าก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งทั้งปวงนั้นยิ่งกว่าไฟ อันไฟธรรมดานั้นเมื่อมันลุกโพรงอยู่ เราเห็นได้ด้วยตา เราเห็นได้ว่าเป็นไฟก็ไม่อาจเข้าใกล้ แต่สิ่งทั้งปวงนั้นเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ และชวนให้เราสมัครใจเข้าไปกอดกองไฟด้วยกัน จึงพากันเป็นทุกข์อยู่ตลอดกาล
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ๓ หลัก
เมื่อเราศึกษาในหลักวิชาที่ทรงวางไว้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว แต่เราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะตรงต่อกฎธรรมดาของสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่จริงๆ พระพุทธองค์จึงทรงวางระเบียบปฏิบัติประมวลลงในหลัก ๓ คือ ทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทรงสอนให้บำเพ็ญความดีทุกอย่าง และทรงสอนให้ชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ระเบียบปฏิบัติที่ทรงประมวลลงใน ๓ หลักนี้ สำหรับให้เราปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าความชั่วที่เรียกว่าบาปทั้งปวงเป็นสิ่งที่ควรละ เพราะให้ผลเป็นทุกข์แก่ผู้กระทำ แล้วละคือเว้นไม่กระทำความชั่วทั้งปวงนั้นเสีย ความดีที่เรียกว่ากุศลหรือบุญทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เพราะให้ผลเป็นสุขแก่ผู้กระทำ แล้วบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตนโดยครบถ้วน และจิตใจที่ชำระให้บริสุทธิ์สะอาดแล้วจะต้องหลุดจากความชั่วและความดีพ้นภพชาติเด่นอยู่ในโลก
แนวการสอน ๕ ประการ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนลงใน ๓ หลักนั้นแล้ว ได้ทรงวางแนวการสอนทำให้เข้าถึง ๓ หลักนั้นไว้ ๕ ประการ เรียกว่า อนุปุพพิกถา สำหรับสอนให้ผู้ทำตามเปลี่ยนชีวิตจิตใจของตนให้เลื่อนขั้นดีขึ้นโดยลำดับ คือ
๑. ทานกถา พรรณาทานการให้ว่าเป็นคุณให้คนมีอัธยาศัยใจคอกว้างขวาง รู้จักสละทรัพย์สมบัติของตนเพื่อเฉลี่ยความสุขแก่คนอื่น ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เป็นการแสดงจิตเมตตากรุณาแก่คนอื่นตามฐานะ
๒. สีลกถา พรรณาถึงการรักษาศีล ให้รู้จักปรับปรุงตนของตนเป็นคนมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย ปราศจากโทษใหญ่น้อยเป็นลำดับแห่งทาน
๓. สัคคกถา พรรณาถึงสวรรค์ คือ กามคุณที่น่าใคร่ อันจะพึงได้พึงถึงด้วยกรรมดี คือ ทาน ศีล ให้รู้จักบำเพ็ญกรรมดีนั้นจนจิตอิ่มตัวเป็นลำดับแห่งศีล
๔. กามาทีนวกถา พรรณาถึงโทษของกามว่าเป็นของไม่ยั่งยืนและประกอบด้วยความคับแค้น เพื่อให้รู้โทษของกามว่า นามรูปแม้จะได้มาเพราะผลของกรรมดี ให้เกิดความสุขสักเท่าไร แต่เมื่อยังเกาะเกี่ยวอยู่ในกามภพนี้ก็จะได้รับทุกข์อยู่ร่ำไป อันผู้ยังมีภพมีชาติอยู่นั้น ท่านเปรียบเหมือนบุคคลถูกเขานำหอกมาแทงวันละ ๑๐๐ เล่ม ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ถึง ๑๐๐ ปีแล้วตายไป พ้นจากทุกข์ในโลกนี้ ยังดีกว่าผู้มีภพชาติซึ่งต้องตายๆ เกิดๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุดลงได้
๕. เนกขัมมานิสัมสกถา พรรณาถึงอานิสงส์แห่งการออกไปจากกาม เพื่อให้รู้จักฟอกจิตให้ออกห่างจากความยินดีในกาม และสละกามอันเป็นพืชพันธุ์ก่อให้เกิดภพชาติไม่มีที่สุด จึงควรจะได้รับฟังคำสอนให้เกิดดวงตาเห็นธรรม เหมือนผ้าที่ขาวสะอาดควรจะรับน้ำย้อม ฉะนั้น
บรรดาคนที่เกิดมาในกามภพ สำหรับผู้โง่เขลาย่อมยินดีในกามภูมิเพลิดเพลินอยู่ในกามกิเลส ปรารถนาแล้วปรารถนาอีกในกามตัณหา ชอบใจติดอยู่ในกามคุณจนถอนตนไม่ขึ้น เหมือนกบและเต่าที่ยอมจมอยู่ในตมและโคลนตลอดกาล ส่วนผู้มีปัญญาพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว กลับเห็นตรงกันข้าม เลิกถอนสละคืนได้ทั้งหมด ไม่ยอมจมอยู่ในโคลนตมเหมือนดอกบัว แม้รากเหง้าจะจมอยู่สู่ในตมก็ไม่เปื้อนด้วยตมและโคลน และชูดอกแย้มกลีบโปรยกลิ่นหอมระรื่นอยู่บนตมและโคลน ดังนั้น จึงขอเชิญท่านผู้มีวิจารณญาณพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นธรรมเถิด
สรุปหลักคำสอนที่ประมวลลงใน ๓ หลักนั้น คือ ทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทรงสอนให้บำเพ็ญความดีทุกอย่าง และทรงสอนให้ชำระใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ส่วนแนวการสอนสำหรับให้ผู้ปฏิบัติดำเนินตามนั้นมี ๕ ที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา คือ ทานกถา พรรณาถึงการให้ทาน สีลกถา พรรณาถึงการรักษาศีล สัคคกถา พรรณาถึงสวรรค์ กามาทีนวกถา พรรณาถึงโทษของกาม และเนกขัมมานิสังสกถา พรรณาถึงอานิสงส์แห่งการออกไปจากกาม
จริงอยู่ หลักคำสอนมี ๓ แนว การสอนที่จะให้ถึงหลักคำสอนมี ๕ ไม่เท่ากัน แต่โดยเนื้อความก็กลมกลืนเข้ากันได้ไม่ขาดไม่เกิด คือ แนวการสอน ๓ ข้อเบื้องต้นสอนให้ละความชั่ว ท่ามกลางให้ตั้งอยู่ในความดี เบื้องปลายสอนให้ชำระใจที่เศร้าหมองให้เป็นใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง
กามเป็นอุปสรรคตัวต้นของสมาธิ
คนเราเกิดมาในกามภพ ร่างกายจิตใจตกอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นอาหารหล่อเลี้ยง แม้ร่างกายนี้ก็ได้วัตถุกามมาเป็นเครื่องปรนเปรอ ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามได้ ชาวโลกิยชนนี้ พระพุทธองค์ทรงอุปมาเหมือนนกติดข่ายของนายพราน ซึ่งน้อยตัวนักที่จะหลุดพ้นไปได้ โลกิยชนเราก็เช่นกัน น้อยคนนักจะหลุดพ้นจากเครื่องผูกของกามไปได้
ประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่าเต่ากับปลาสองสหาย เต่าเป็นทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก ได้พูดเรื่องภูมิประเทศเหตุการณ์บนบกให้ปลาฟังว่าเป็นที่สวยสดงดงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารนานาชนิด แม้เต่าจะชี้แจงให้ฟังสักเท่าไร แต่ปลาเป็นสัตว์น้ำไม่เคยเห็นบนบกก็ไม่ยอมเชื่อ ด้วยเข้าใจว่าในพิภพนี้มีแต่น้ำเท่านั้น หามีบนบกอยู่ด้วยไม่ ข้อนี้ฉันใด กามเป็นเครื่องเศร้าหมองของใจ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามก็ฉันนั้น ย่อมไม่รู้เห็นสัจธรรมได้ ถึงจะมีผู้ชี้โทษให้เห็นว่า กามเป็นของมีโทษมากมีคุณน้อย ก็ไม่ยอมรับรู้ทั้งนั้น เพราะเห็นกามเป็นคุณ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ เมื่อกามให้โทษทั้งที่เผ็ดร้อนแสนสาหัส น่าจะเห็นว่ากามลงโทษ แต่กลับเห็นไปว่าสิ่งอื่นให้โทษก่อน
กามคุณ มีอยู่ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของกามแล้ว ย่อมลุ่มหลงมัวเมาติดอยู่ในกามคุณ ๕ นี้ว่า เมื่อกามคุณ ๕ นี้ยังมีอยู่ สามารถอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนได้ หรือกามคุณ ๕ นี้ดับหายไปก็ยังหวังว่าจะได้มาอีก ดังนั้น สัตว์ตายแล้วจึงต้องเกิดอีก เพราะความหวังติดใจในกามคุณ ๕ ยังมีเชื้อเหลืออยู่ เป็นอันว่าผู้ตกโคลนเอาโคลนมาล้างจะสะอาดได้ไฉน เมื่อจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสแล้ว ย่อมเข้าถึงสมาธิไม่ได้ อันจิตที่เป็นสมาธินั้น ต้องเป็นจิตสะอาดปราศจากกิเลสมีกามฉันทะ เป็นต้น
ข้อนี้พึงเห็นได้ในองค์ฌาน ๕ เป็นตัวอย่าง คือ ผู้จะเข้าถึงฌานได้ต้องละนิวรณ์ ๕ ด้วยองค์ฌาน ๕ คือ ละกามฉันทะ ความพอใจในกาม ด้วยเอกัคคตา ละพยาบาทด้วยปีติ ละถีนมิทธิด้วยวิตก ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยสุข และละวิจิกิจฉาด้วยวิจาร เมื่อพิจารณาดูตามนี้จะเห็นได้ว่ากามเป็นอุปสรรคตัวต้นที่เข้าขัดขวางไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ ที่จริงกามได้แสดงอาการให้จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว ขณะที่จิตพอใจในวัตถุอันน่าใคร่ ซึ่งเรียกว่าวัตถุกาม ก็ถูกกิเลสเป็นเหตุใคร่ซึ่งเรียกว่ากิเลสกามเข้าครอบงำ สิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจย่อมมีอยู่ครบถ้วน เมื่อประสบสิ่งอันไม่น่าพอใจ จิตก็เกิดปฏิฆะ โทสะ พยาบาท ขณะที่จิตมีปฏิฆะ โทสะ พยาบาทอยู่นั่นเอง ความฟุ้งซ่านและรำคาญต้องตามมา ความง่วงงุนซบเซาหาวนอนก็ประดังมา เป็นเหตุให้เกิดความลังเลตัดสินใจอะไรลงไปไม่ได้ แม้จะตัดสินลงไปแล้วก็ไม่เป็นอันตัดสิน ผลก็คือความกลุ้มใจ นำให้ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ท่านจึงสอนให้อบรมจิตให้เป็นสมาธิเพื่อละกิเลสเหล่านี้เสีย แล้วก็จะได้รับความสุขที่แท้จริง
จริงอยู่ คนเราที่เกิดมาในกามภพ ติดอยู่ในกามภูมิ มีกามารมณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อคิดดูแล้วน่าหนักใจในอันจะละกามให้ออกห่างไกลจนจิตไม่ติดชุ่มแช่อยู่ในกามารมณ์ และเห็นโทษเบื่อหน่ายถอนตัวออกได้เด็ดขาด เป็นอนาลโย สิ้นอาลัยห่วงใยนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ผู้ปฏิบัติที่ตั้งใจมุ่งมั่นดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเข้าถึงสัจธรรม ความหนักใจจะกลายเป็นความเบาใจไป และความสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ก็จะหมดสิ้นไป เพราะสัจธรรมเป็นนิยยานิกธรรม นำให้ผู้ปฏิบัติถูกต้องลุถึงผลที่ประสงค์ได้
พึงทราบว่า รูปกายของคนเราเป็นวิบากขันธ์ จะสมประกอบหรือไม่สมประกอบก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนใจที่เข้าอาศัยรูปกายเป็นเรือนอยู่ เมื่อยังไม่รู้ความจริงของรูปกาย ก็จะอนุวัตไปตามและเข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส แต่เมื่อได้รับอบรมให้รู้ให้ฉลาดขึ้นพอตัวแล้ว ก็จะเห็นเป็นแต่สักว่าเครื่องอาศัย ไม่เข้ายึดครองด้วยอำนาจกิเลส พึงเห็นพระอริยเจ้าเป็นตัวอย่าง คือ ท่านอาศัยรูปกายนี้เองบำเพ็ญบารมีจนได้บรรลุโลกุตรธรรม และยังต้องอาศัยรูปกายนี้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่อีก
กาม อุปมาเหมือนกับน้ำท่วมทับกายและใจของสัตว์อยู่ตลอดเวลา คนผู้ลุ่มหลงมัวเมาเหมือนกับปลา ผู้มีสติสัมปชัญญะเหมือนกับเต่า ซึ่งเป็นทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ จะไม่ลงไปอยู่ในน้ำเสียเลย ก็ยังพอมีความสุขดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ตาย เหมือนฆราวาสผู้หมกมุ่นในกาม ถ้าไม่เห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิ ก็ไม่อาจพรากจิตออกจากกามและอบรมจิตให้เป็นสมาธิได้ แต่เมื่อเห็นว่ากามเป็นอุปสรรคของสมาธิและรู้ว่าจิตเพียงอาศัยรูปกายอันเป็นวิบากขันธ์ จิตมิใช่รูปกาย รูปกายไม่ใช่จิต แล้วพยายามหาโอกาสออกจากกาม เช่น รักษาอุโบสถเป็นต้น ปลีกตนออกจากกาม อบรมสมาธิฝึกฝนจิตให้สงบสงัดจากกามและกิเลสทั้งหลายเป็นครั้งคราว เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ ก็สามารถพรากจิตออกจากกามได้แน่นอน ควรถือภาษิตว่า "น้ำมากมาปลากินมด น้ำลดหมดมดได้กินปลา" แต่ขณะเราอยู่ในฐานะเป็นปลาก็อย่าคอยท่ากินแต่มดเมื่อน้ำหลากมา หรือถึงคราวเป็นมด ก็ต้องอย่าคอยท่ากินแต่ปลาเมื่อน้ำแห้งแล้ว
ฝึกหัดสมาธิด้วยกายคตาสติ
กาย เป็นที่รวมอุบายของกรรมฐาน หรือเป็นที่ประชุมของกรรมฐานทั้งปวง อสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น เมื่อเราน้อมเข้ามาพิจารณาในกายจะปรากฏเห็นมีครบบริบูรณ์อยู่ในกายนี้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอุบายให้จิตค่อยคลายอัสมิมานะไปในตัว และเกิดสลดระงับความฟุ้งซ่านหดตัวเข้ามารวมเป็นสมาธิ อนึ่ง กายนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นมูลของกิเลสทั้งปวง ถ้าเราไม่รู้เท่าตามเป็นจริง มันก็จะเป็นเชื้อก่อภพชาติและกองทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด ว่าโดยสัจธรรม กายนี้มิใช่ของมีความสุขดังที่ปุถุชนเข้าใจกัน หากแต่เป็นตัวก้อนทุกข์ก่อความลำเค็ญให้ตลอดเวลา
พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกว่ากายนี้เป็นก้อนทุกข์ เพราะเต็มไปด้วยทุกข์ ๔ กอง คือ ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่คร่ำครา พยาธิ ความป่วยไข้ และ มรณะ ความแตกดับ แต่ปุถุชนไม่รู้กายนี้ตามความเป็นจริง หลงถือมั่นว่าเป็นตนเป็นของตน และสำคัญเอาก้อนทุกข์นี้ว่าเป็นสุข เที่ยวหาแต่สิ่งที่ตนเข้าใจเอาว่าเมื่อได้สิ่งนั้นมาพอกพูนกายนี้แล้วจะเพิ่มความสุขให้ยิ่งขึ้น ผลสุดท้ายยิ่งเพิ่มก็ยิ่งทวีความทุกข์ ครั้นทุกทับถมทวีมากเข้าๆ บางคนที่ไม่มีธรรมเป็นประทีปส่องทาง เมื่อหาทางที่ปลอดโปร่งออกไม่ได้ ต้องออกด้วยอัตวินิบาตคือฆ่าตัวตายไปก็มิใช่น้อย
ดังนั้น ผู้หวังความสุขอันแท้จริง เมื่อชาวโลกกำลังเดือดร้อนดิ้นรนหาทางออกอยู่ จึงควรยกกายอันเป็นต้นตอของกองทุกข์และกิเลสทั้งปวงขึ้นพิจารณาแยกแยะให้รู้เห็นตามเป็นจริง จนหายสงสัยในกาย ถอนอุปาทานปล่อยวางเสียโดยไม่อาลัยห่วงใย แล้วก็จะได้ประสบความสงบสุขอันแท้จริง ความจริงร่างกายที่เราถือว่าเป็นของเราทุกวันนี้ สักแต่ว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่ของใคร มีอันย่อยยับแตกดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แม้เราจะทะนุถนอมเลี้ยงดูเอาอกเอาใจเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ แต่มันก็เป็นไปตรงกันข้าม ถ้าใครรู้จักใช้ให้สมแก่ฐานะหน้าที่ของตน ก็จะได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ ถ้าไม่รู้จักใช้เล่า ก็จะต้องเกิดโทษทุกข์เดือดร้อน นอกนั้น ร่างกายนี้ยังเป็นภาระหนักที่ต้องบริหารรักษา เมื่อผู้ไม่มีปัญญายึดครองด้วยอัตตานุทิฏฐิแล้ว จะต้องแบกภาระหนักให้เกิดทุกข์แสนสาหัส สมดังพระพุทธเจ้าดำรัสว่า
" ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เบญจขันธ์เป็นของหนักแท้
ภารหาโร จ ปุคฺคโล แต่บุคคลก็ยังชอบแบกของหนักไป
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การรับแบกเอาของหนักเป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปล่อยวางภาระเสียเป็นความสุข
นิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ ผู้ปลงของหนักๆ เสียได้แล้ว
อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่รับเอาของหนักอย่างอื่น
สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห เป็นผู้รื้อถอนตัณหากับทั้งมูลรากได้แล้ว
นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต เป็นผู้หมดหิวกระหายต้องปรินิพพาน"
เมื่อพิจารณาตามพระพุทธดำรัสนี้จะเห็นได้ว่า เบญจขันธ์ย่อเข้าเป็นรูปขันธ์ นามขันธ์หรือกายกับใจ ที่บุคคลชอบยึดถือแนบแน่นเข้ากับจิต ทั้งๆ ที่เห็นว่ามันเป็นของหนักเหลือทน แต่ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นว่ากายกับใจเป็นคนละส่วน ไม่ใช่อันเดียวกัน ถอนอุปาทานที่เข้าไปยึดส่วนกายเสีย มุ่งมั่นอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ ก็สละละวางส่วนกายที่ไม่ควรยึดถือเสียได้ เพราะว่ารูปขันธ์ นามขันธ์นี้ โดยเฉพาะรูปขันธ์ที่คนทั้งหลายเห็นได้ง่ายด้วยตาของตนนั้น เป็นของควรดูให้เห็นแจ่มชัดว่ารูปขันธ์ซึ่งอาศัยธาตุ ๔ คุมกันเข้าเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีอาการแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีการแตกสลายลงในที่สุด ใครจะยึดถือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเราเป็นเขา หรือเป็นของเราของเขาไม่ได้ทั้งนั้น สภาพของมันย่อมเป็นไปตามอำนาจของมันเอง แต่จะไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา เมื่อเราเข้ายึดถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะมีแต่ความทุกข์เดือดร้อนเป็นผลฝ่ายเดียว
ถ้าพิจารณาเช่นนั้นยังไม่เห็นแจ่มชัด เพราะไม่เป็นอุบายทำให้จิตสลดและสงบเป็นสมาธิได้แล้ว ก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นอสุภ ด้วยหยิบยกเอาอาการ ๓๒ ในร่างกาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด หรือจะรวมยกเอาร่างกายทั้งก้อนขึ้นมาพิจารณาโดยนัยนั้นก็ได้ มิฉะนั้น จะเพ่งอวัยวะในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งพอจะเห็นเป็นอสุภได้ง่ายเป็นอารมณ์ เช่น กระดูก น้ำมูก น้ำลาย เลือด น้ำหนอง เป็นต้น จนจิตเห็นชัดแจ้งด้วยญาณ และเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายคลายกามราคะถอนอุปาทานแล้ว ก็จะเข้าถึงฌานสมาธิได้ ดังนั้น ผู้ฝึกหัดสมาธิจึงควรน้อมจิตลงเชื่อในการพิจารณากายว่าอารมณ์ของกรรมฐานทั้งปวงรวมอยู่ในกายก้อนนี้แล้ว ต้องอย่าได้ข้องใจว่า กรรมฐานนั่นจะดีโน่นจะดี แท้จริงการฝึกหัดทำกรรมฐานนั้น มีจุดประสงค์อยู่ที่ให้ใจรู้แจ้งเห็นจริงในกายก้อนนี้ จนหายสงสัยและปล่อยวางไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ซึ่งเป็นอุบายนำใจให้เข้าถึงฌานสมาธิ
อีกประการหนึ่ง ขณะกำลังเพ่งพินิจอารมณ์ใดๆ อยู่นั้น พึงปลูกศรัทธาปสาทะลงให้แรงกล้า ตั้งสติให้มั่นคงแน่วแน่ อย่าทำขาดๆ วิ่นๆ อย่าคำนึงถึงการกระทำว่าจะสมหวังหรือไม่ อย่าใช้สังขารปรุงไว้ก่อนว่า เมื่อทำไปจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องละอย่างนั้น แล้วจะเกิดเป็นอย่างนั้น จะเข้าตำราว่าชิงสุกก่อนห่าม เพราะจิตจะไม่แน่วแน่ ความรู้จะไม่ชัดแจ้ง ความเพียรจะถดถอย ศรัทธาจะเสื่อม ผลสุดท้ายก็จะเบื่อระอา เกียจคร้านและประมาท จงตั้งความเพียรเพ่งพิจารณาเฉพาะแต่ในอารมณ์นั้นโดยติดต่อให้ชำนาญ จนเป็นเอกัคคตารมณ์
ลักษณะจิตเข้าถึงสมถะ
ลักษณะที่จิตเข้าสงบจดจ่ออยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในกายเป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ในเฉพาะจุดเดียว เรียกว่า สมถะ อันจิตของคนเรานี้ย่อมมีอารมณ์มาก เที่ยวไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่อยู่คงที่ จิตของผู้ไม่ได้อบรมสมถะจะไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่รู้รสของความสุขที่เกิดแต่ความสงบ สมถะนี้ไม่เกิดเฉพาะแก่ผู้ฝึกหัดสมถะเท่านั้น แต่เกิดแก่คนทั่วไปก็ได้ในบางกรณี พึงเห็นเช่นเมื่อเราได้ประสบอารมณ์อะไรเข้า ซึ่งพอจะกระตุ้นเตือนใจที่กำลังฟุ้งซ่านให้หดตัวเข้ามาจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียว มีได้เห็นคนตายเป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าไม่มีความกลัวแล้ว จิตในขณะนั้นจะเลิกถอนจากอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังคิดสอดส่ายอยู่นั้น เข้ามารวมอยู่ในเรื่องตายอันเดียวด้วยความงงงันแล้วจะน้อมเข้ามาหาตน ปลงธรรมสังเวชสงบอยู่ นี่คือสมถะที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
ส่วนสมถะที่เกิดขึ้นด้วยการฝึกหัด หมายถึงการปรารภกรรมฐานบทใดบทหนึ่งเป็นอารมณ์ จนจิตได้เข้าประสบกับอารมณ์ของกรรมฐานนั้นๆ และนำให้จิตรู้สึกนึกคิดพิศวงงงงันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีอุปมาเหมือนคนเดินทาง ขณะเมื่อสะดุดก้อนหินหรือท่อนไม้ถึงกับแตกเจ็บปวดเป็นกำลัง จิตก็จะถอนจากความเพลินและสอดส่ายไปในอารมณ์อื่น กลับเข้ามารวมจดจ่ออยู่ที่ความเจ็บปวดเท่านั้น รวมความว่า ลักษณะที่จิตถอนจากอารมณ์ภายนอกเข้ามารวมเป็นเอกัคคตาอยู่ภายในจุดเดียว จะโดยบังเอิญก็ดี โดยฝึกหัดให้เกิดขึ้นก็ดี เรียกว่า สมถะ
แยก ฌาน และ สมาธิ ให้ต่างกัน
สมถะ เป็นได้ทั้งฌานและสมาธิ อารมณ์ของฌานและสมาธิเหมือนกัน การฝึกเบื้องต้นก็เหมือนกัน แต่การละต่างกัน การเข้าถึงภูมิของตนก็ผิดกัน แต่ขณะเดียวกันต่างสนับสนุนเป็นทุนให้กำลังแก่กันและกันไปในตัว เรื่องนี้ผู้เข้าถึงแล้วจะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง จะขอนำท่านผู้สนใจเข้าไปพิสูจน์ตามมติและหลักฐานเป็นเครื่องอ้างเพื่อท่านจะได้พิจารณาเลือกถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป
ฌาน ได้แก่ การเพ่ง และเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะเป็นกสิณ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญจะต้องให้จิตจับจ้องอยู่ในเฉพาะอารมณ์อันนั้นเป็นใช้ได้ เบื้องต้นจะต้องตั้งสติควบคุมจิตให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแน่นแฟ้น เมื่อจิตถอนออกจากอารมณ์อื่นมารวมอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เสวยความสุขอันไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน จิตก็จะยินดีและน้อมเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง เรียกว่าเพ่งเอาความสุขอันเกิดจากเอกัคคตารมณ์เป็นอารมณ์ของฌานต่อไป จนเป็นเหตุให้เผลอตัวลืมสติไปยึดมั่นเอาเอกัคคตาว่าเป็นของบริสุทธิ์และดีเลิศ จิตตอนนี้จะรวมวูบเข้าภวังค์ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับเผลอสติ หรือลืมสติไปเสียเลยอยู่พักหนึ่ง
แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้นมา แต่ผู้ที่เคยเป็นบ่อยและชำนาญแล้ว จะมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันแต่เป็นไม่แรง และนิมิตหรือความรู้อะไรจะเกิดก็มักเกิดในระยะนี้ เมื่อนิมิตและความรู้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่อยู่ในเอกัคคตานั้นจะวิ่งตามไปอย่างง่ายดาย เพราะจิตที่อยู่ในเอกัคคตารมณ์เป็นของเบาและไวต่ออารมณ์มาก ที่เรียกว่าจิตส่งในเป็นภัยต่อผู้เจริญฌานอย่างยิ่ง บางทีอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปก็มี ฌานมีเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องวัดในที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณได้ กิเลสของผู้ได้ฌานก็คือ มานะแข็งกระด้างทิฐิถือรั้นเอาความเห็นของตัวว่าเป็นถูกทั้งหมด คนอื่นสู้ไม่ได้ เรื่องนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของฌานหรือทิฐินิสัยเดิมของแต่ละบุคคลอีกด้วย ผู้ที่ผ่านเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้วหรือมีจิตใจสูงกว่าเท่านั้น จึงจะแก้และแสดงให้เขาเห็นจริงตามได้ ถ้าแก้ไม่ตกก็เสียคนไปเลย
ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์หรือกำหนดยึดเอาอารมณ์มาไว้กับจิต หรือเอาจิตไปตั้งไว้กับอารมณ์ของกรรมฐานที่ตนเจริญอยู่นั้นจนแนบสนิทติดเป็นอันเดียวกัน วิจารค้นคว้าตริตรองอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นวิจารอยู่ในอสุภเป็นต้น ปีติ เมื่อจิตเห็นชัดในอารมณ์นั้นแล้วก็เกิดปีติ สุข เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดสุข และเอกัคคตา เมื่อจิตมีสุขแล้วก็แช่มชื่น มีอารมณ์เป็นเอกัคคตาแน่วแน่อยู่ในสุขนั้น
ทุติยฌาน มีองค์ ๓ ด้วยอาศัยปฐมฌานเป็นรากฐานหนักแน่นอยู่แล้ว กิจอันจะต้องใช้วิตก วิจาร ไม่มี จึงยังเหลืออยู่แต่ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ ๒ เพราะอาศัยฌานทั้งสองเบื้องต้นขัดเกลาฟอกจิตให้ค่อยละเอียดโดยลำดับ จนปีติหมดไปไม่ต้องการใช้ จึงยังคงเหลืออยู่แต่สุขกับเอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ ๒ จิตในตอนนี้ละเอียดมาก การเพ่งในรูปกรรมฐานยึดรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งรูปนั้นเกือบจะไม่ปรากฏ ถึงจะเพ่งรูปเป็นอารมณ์จนจิตเป็นเอกัคคตาอยู่ในรูปนั้นแล้วก็ตาม แต่ด้วยอำนาจความละเอียดของรูปกรรมฐาน จิตก็ยังปล่อยวางไม่ได้ ต้องเข้าไปตั้งอุเบกขาอยู่ในรูปกรรมฐานนั้นอีกอาการหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นความยึดถืออันละเอียดในรูป
จตุตถฌานจึงยังเหลือองค์ ๑ คือ เอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาซึ่งเป็นองค์พิเศษเข้าอีก ๑ จึงมีองค์ ๒ เมื่อรวมแล้วรูปฌาน ๔ นี้ มีองค์ ๖ ส่วนอรูปฌานจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะรูปฌานก็เป็นบาทให้เดินมรรคเข้าถึงโลกุตตระได้แล้ว
อำนาจการละของฌาน
ฌาน ละกิเลสที่เป็นวิสัยของกามาพจรได้ ๕ คือ กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ ๕ พยาบาท ความปองร้ายคนอื่น ถีนมิทธะ ความง่วงงุนซบเซาหาวนอนอันเกิดแต่จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่มีเครื่องอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านของใจที่สอดส่ายไปในอารมณ์ภายนอกจนเป็นเหตุให้รำคาญ และ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในคุณของพระรัตนตรัย เมื่อพูดให้ตรงตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าเรียกว่าละได้ ควรเรียกว่าสงบอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งฌาน ท่านอุปมาเหมือนศิลาทับหญ้า เพราะเมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสทั้ง ๕ ก็จะเข้ามาประจำที่เช่นเคย และองค์ฌานทั้งหมดนี้ก็อยู่ในภูมิแห่งโลกิยะด้วย
ตัวฌานแท้คือภวังค์
ภวังค์ เกิดขึ้นในขณะที่จิตเข้าถึงฌาน มีอยู่ ๓ คือ
ภวังคบาต จิตรวมเข้าสู่ภวังค์ขณะแวบเดียวแล้วถอนออกมาเสีย
ภวังคจลนะ จิตที่ไหวตัวเข้าไปรวมเป็นภวังค์แล้วไม่ยอมออกมารับอารมณ์ภายนอก เสวยอารมณ์อยู่ภายในใจเอง ซึ่งมีอาการคล้ายๆ กับอารมณ์ภายนอก ต่างแต่มีรสชาติที่พิเศษกว่า หรือจิตที่กำลังจะปล่อยวางรวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่ยังไม่สนิทพอจะวางได้ ก็เรียกว่าภวังคจลนะเหมือนกัน
ภวังคุปัจเฉทะ จิตที่รวมเข้าเป็นก้อนเดียวไม่มีอาการแตกแยกแม้แต่นิดเดียว ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ในขณะที่จิตยังอาศัยกายอยู่ แต่แยกภพออกจากกายไปตั้งอิสระอยู่ตามลำพังผู้เดียว แล้วเสวยอารมณ์ตามลำพังของตนเองอยู่ต่างหาก
เรื่องของสมาธิ
อาการที่ตั้งสติคุมจิตให้เพ่งพินิจอยู่ในกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งให้รวมอยู่ในจุดเดียวกันจนจิตแน่วแน่แน่นแฟ้น โดยมีสติรู้อยู่ว่า นี่สติ นี่สมาธิ นี่อารมณ์เหลืออยู่หมดไป มีไตรลักษณญาณควบคุมอยู่ตลอดเวลา นี่คือลักษณะของสมาธิ ซึ่งผิดแผกจากฌานดังกล่าวแล้ว สมาธิมี ๓ อย่าง คือ
๑. ขณิกสมาธิ อาการที่จิตเข้ารวมอยู่ในจุดเดียว แต่รวมเป็นครู่เป็นขณะมีลักษณะวับๆ แวบๆ แล้วก็หายไปจนจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้
๒. อุปจารสมาธิ อาการที่จิตจวนจะรวมเข้าสู่อัปปนา ซึ่งจะรวมแหล่มิรวมแหล่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านสอดส่ายออกไปภายนอก ยึดเอาอารมณ์เป็นอุปาทานเครื่องถือมั่น จะละก็ไม่ใช่ จะเอาก็ไม่เชิง มีความลังเลเป็นสมุฏฐาน
๓. อัปปนาสมาธิ อาการที่จิตถอนสละออกจากอุปาทานทั้งปวงแล้วเข้ารวมกำลังสติ สมาธิ และปัญญา ให้มีกำลังสมบูรณ์เต็มที่ เกือบจะกล่าวได้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะนี้ แม้จะเป็นโลกอยู่ในโลกตามสมมตินิยมก็ดี แต่ใจในขณะนั้นไม่มีโลกติดอยู่เลย จะเรียกว่าโลกก็มิใช่ จะเรียกว่าธรรมก็ไม่เชิง เพราะอัปปนาไม่มีสมมติในที่นั้น
ขณะนั้นสิ่งอันสังเกตได้ง่ายก็คือ ลมหายใจไม่มี หากจะมีปัญหาสอดเข้ามาว่า เมื่อลมหายใจไม่มี ไฉนจึงไม่ตาย เพราะคนเราอยู่ได้ด้วยลมหายใจมิใช่หรือ พึงเฉลยว่า ลมหายใจไม่ระบายเข้าออกได้เฉพาะแต่ทางจมูกอย่างเดียว ย่อมระบายเข้าออกได้ทั่วไป แม้ชั้นแต่ขุมขนทุกขุมขนก็ระบายเข้าออกได้ พึงเห็นท่านผู้อบรมใจให้ละเอียดจนปล่อยวางอุปาทานในรูปได้แล้ว ท่านผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นตัวอย่าง ซึ่งสัญญาและเวทนาได้ดับหมด แม้ลมหายใจก็ไม่มีตั้ง ๗ วันก็อยู่ได้ เรายังทำไม่ถึงตรงนั้น ไม่ควรจะเอามติของเราไปวัด
อำนาจการละกิเลสของสมาธิ
สมาธิเป็นมรรคละกิเลสที่เป็นของปุถุชน ทำคนให้เป็นพระอริยเจ้าได้ ตามภูมิของมรรคนั้นๆ มรรคมี ๔ คือ
ปฐมมรรค ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตน โดยถือรั้นในกายก้อนนี้ว่าเป็นสาระจริงจัง มิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นด้วยไตรลักษณญาณ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย อันเป็นเหตุให้ถือพระศาสนาไม่สนิท ถือด้วยศรัทธาคลอนแคลน สีลัพพตปรามาส ลูบคลำการรักษาศีลและข้อวัตร คือ รักษาศีลและประพฤติวัตรด้วยอาศัยเหตุอย่างอื่น ไม่เป็นอริยกันตศีล อริยกันตวัตร
มรรคที่สอง ละกิเลสได้ ๓ เหมือนปฐมมรรค และทำ ราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม โทสะ ความที่จิตคิดประทุษร้าย และ โมหะ ความหลงงมงายปราศจากเหตุผล ให้เบาบางลง
มรรคที่สาม ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาศ กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ปฏิฆะ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ
มรรคที่สี่ ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ นั้น และละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้เด็ดขาด ซึ่งสังโยชน์เบื้องสูงนั้น คือ รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม มานะ ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่านไปในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อวิชชา ความหลงเป็นเหตุให้ไม่รู้จริงในอริยสัจ ๔
ฌานและสมาธิมีที่สุดต่างกัน
ฌานมีภวังค์เป็นที่สุด สมาธิมีสมาธิเป็นที่สุด ภวังค์มี ๓ คือ ภวังคบาต ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ อาการที่จิตตกเข้าสู่ภวังค์ มีลักษณะวูบวาบหรือแวบเดียวแล้วถอนออกมาเรียก ภวังคบาต อาการที่จิตไหวตัวตกเข้าสู่ภวังค์แล้วไม่ยอมออกมารับอารมณ์ภายนอก แต่เสวยอารมณ์อยู่ภายในใจเอง ซึ่งมีอาการคล้ายๆ กับอารมณ์ภายนอก ต่างแต่มีรสชาติพิเศษกว่า หรือที่จิตกำลังจะปล่อยวางอารมณ์รวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่ยังไม่สนิทพอที่จะวางได้ ก็เรียกว่า ภวังคจลนะ อาการที่จิตตัดอารมณ์ทั้งภายในและภายนอกขาดหมด รวมเข้าเป็นก้อนเดียว ไม่มีอาการแตกแยกแม้แต่นิดเดียว เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ
ภวังค์เป็นชื่อภพของจิต เมื่อจิตมาถือปฏิสนธิในกายนี้ และกายนี้ยังมีอยู่ จิตที่ถูกอบรมให้ละถอนอุปาทานได้แล้ว ก็จะเข้าไปรวมเป็นภวังค์ตั้งอยู่ในภูมิของตนโดยเฉพาะ ถ้ากายนี้แตกดับ อาศัยไม่ได้แล้ว จิตดวงนั้นก็จะเป็นภพของตนเอง ไม่ต้องรับสัมผัสที่เกี่ยวเนื่องด้วยกายประสาท เมื่อจิตเดินอยู่ในภวังค์ทั้งสามนี้ เรียกว่าจิตเดินในสายของตน ส่วนอรูปฌาน ๔ จิตได้เข้าถึงภวังคุปัจเฉทะแล้วโดยประการทั้งปวง ยึดเอาอรูปธรรมเป็นอารมณ์ สำหรับภูมิของฌานนี้ ไม่มีปัญญาพอจะยกไตรลักษณะขึ้นพิจารณาให้เห็นชัดแจ้งในอริยสัจ ๔ ได้ จึงไม่เป็นทางที่จะให้สิ้นภพสิ้นชาติได้
สมาธิมี ๓ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ อาการที่ทำสมาธิจิตมีสติรวมเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่รวมชั่วครู่ชั่วขณะวับๆ แวบๆ แล้วหายไป จนจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เรียก ขณิกสมาธิ อาการที่จิตจวนจะรวมเข้าสู่อัปปนา ซึ่งรวมเข้าไปถึงกับตัดอารมณ์ขาดทีเดียว จะรวมแหล่มิรวมแหล่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านออกไปภายนอก ยึดเอาอารมณ์มาเป็นอุปาทานเครื่องถือมั่น เรียกว่า อุปจารสมาธิ อาการที่จิตรวมเข้าสนิทสนม ตัดอารมณ์ทั้งปวดขาดสิ้น และถอนสละออกจากอุปาทาน แล้วเข้ารวมกำลังสติ สมาธิและปัญญาให้มีกำลังสมบูรณ์ผ่องใส สว่างแจ่มจ้าอยู่โดยลำพังดวงเดียว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอุปาทานใดๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ จิตที่ถอนออกมาจากอัปปนาแล้วมาเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ ไม่ถึงกับถอนออกไปเป็น ขณิกะหรือฟุ้งซ่าน ก็เรียกว่า อุปจารสมาธิ เหมือนที่เรียกว่าอุปจาระถอนออกมาจากอัปปนา เบื้องต้นเรียกว่าอุปจาระเข้าถึงอัปปนา
ฌานและสมาธิเป็นปัจจัยแก่กันและกัน
ฌานกับสมาธิต่างเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กำลังแก่กันและกันไปในตัว บางครั้งจิตเข้าฌาน ขาดจากอารมณ์ภายนอกที่หยาบๆ เพ่งอยู่เฉพาะแต่ในอารมณ์ของฌานพอประมาณ แล้วออกมามีสติพิจารณาอารมณ์ของฌานหรืออารมณ์อื่นๆ ทำให้สติกล้าพิจารณาไตรลักษณะชัดเจนขึ้นกว่าเดิม จิตจะเข้าสมาธิได้รวดเร็วและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บางครั้งจิตเข้าถึงสมาธิ มีสติ มีปัญญาผ่องใส เบิกบาน ดำเนินอยู่ในไตรลักษณญาณตามวิถี ถ้าสติอ่อน ปัญญาก็ซบเซาลง สมาธิก็ซึม แล้วจิตจะเข้าฌาน (ภวังค์) เงียบไป หรือไม่ก็น้อมไปหาความสุขของฌาน (คือเอกัคคตารมณ์) แล้วเสวยสุขอยู่
สรุปแล้ว ฌานและสมาธิของผู้ฝึกหัดยังไม่ชำนาญย่อมผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้นในอารมณ์กรรมฐานอันเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ จะห้ามมิให้เกิดเป็นเช่นนั้นหาได้ไม่ แม้ผู้ได้ฝึกหัดให้ชำนาญแล้วก็จำจะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันนั้น หรือนำมาใช้ในบางกรณี เว้นแต่ผู้ที่ติดอยู่ในฌานโดยส่วนเดียว จึงจะไม่ยอมออกและเปลี่ยนไปรับเสวยอารมณ์อื่น
ความรู้พิเศษที่เกิดแต่ฌาน
อภิญญา ๖ คือ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ทิพพโสต มีหูทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจของผู้อื่น บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ และ อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น ๕ ข้อเบื้องต้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน และเกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้มีอุปนิสัยวาสนาเท่านั้น ส่วนข้อสุดท้ายผู้อาศัยฌานและสมาธิทั้งสองมีกำลังเพียงพอ สนับสนุนเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ไม่ติดไม่หลงอยู่ในฌาน จึงจะทำอาสวะให้สิ้นได้ (เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ)
พึงทราบว่าอาสวักขยญาณมิใช่อภิญญาโดยตรง และมิใช่วิปัสสนาโดยเฉพาะ หากเกิดแต่กำลังทั้งสองรวมกัน ฌานเป็นโลกิยะไม่สามารถทำอาสวะให้สิ้นได้ แม้สมาธิอย่างเดียวก็ไม่สามารถให้เกิดอภิญญาได้ เพราะอภิญญาเกิดได้ด้วยอำนาจฌานเท่านั้น เพื่อให้เข้าใจง่าย ผู้มีสมาธิตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิแล้ว ใช้ฌานอันเป็นโลกิยภูมิ (โลกุตตรฌานไม่มี) เป็นเครื่องมือเพื่อให้รู้ในอภิญญา ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตรฌานไปตามกัน เหมือนรองเท้าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงก็เรียกว่าฉลองพระบาทฉะนั้น หาได้เรียกรองเท้าอย่างเดิมไม่
ความรู้พิเศษที่เกิดแต่สมาธิ
๑. จกฺขุ อุทปาทิ ดวงตาคือความรู้แจ้งในสัจธรรม ซึ่งมองเห็นชัดด้วยตาใน (ปัญญาจักษุ)
๒. ญาณํ อุทปาทิ ญาณวิถีภายใน ซึ่งมิใช่เฉพาะตาเท่านั้น แม้อายตนะทั้งหกก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
๓. ปญฺญา อุทปาทิ ความรู้แจ้งในไตรลักษณะได้เกิดขึ้นจนหายสงสัย ไม่มีคำว่าอะไรหนอๆ อยู่ในใจ
๔. วิชฺชา อุทปาทิ ความรู้พิเศษอันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวะได้เกิดขึ้นแล้ว
๕. อาโลโก อุทปาทิ แสงสว่างความรู้ทั้งปวงได้ฉายส่องทั่วทั้งโลก ไม่มีอะไรปิดดวงใจ ซึ่งเป็นเหตุให้มืดหลงได้อีกต่อไปแล้ว
ความรู้พิเศษทั้ง ๕ นี้ ได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยสมาธิอย่างเดียว พึงเห็นตัวอย่างคือ เมื่อพระสาวกนั่งฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น ความรู้เหล่านี้ได้เกิดขึ้นเฉพาะในที่นั่งนั่นเอง แสดงว่าท่านไม่ได้ฌานมาก่อน แต่ได้สมาธิในขณะที่ตั้งใจน้อมลงฟังธรรมนั้น สมาธิและความรู้ที่เกิดแต่สมาธิจึงจัดเป็นโลกุตตระและเป็นสัมมามรรคด้วย
วิปัสสนาญาณ ๙ เกิดแต่ฌาน
๑. อุทยัพพยญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคญาณ ปรีชาคำนึงเห็นแต่ความดับของสังขาร
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทาญาณ ปรีชาคำนึงถึงด้วยเบื่อหน่ายในสังขาร
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นเสียจากสังขาร
๗. ปฏิสังขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ
ในวิปัสสนาญาณ ๙ นี้ ๘ ข้อเบื้องต้นมิได้เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรทั้งหมด และเมื่อเกิดก็ไม่เกิดขึ้นตามลำดับดังตัวเลขที่เรียงไว้นั้น อาจเกิดขึ้นเฉพาะญาณใดญาณหนึ่งก็ได้ และแล้วก็เข้าถึงญาณที่ ๙ เลย เพราะญาณทั้ง ๙ นี้เกิดแต่ฌานโดยตรง ๘ ข้อเบื้องต้นมิได้มีคุณพิเศษยิ่งหย่อนกว่ากัน ต่างก็มีฌานเป็นภูมิฐาน ไม่ได้ใช้ไตรลักษณญาณเป็นเครื่องพิจารณา เพ่งเห็นแต่หน้าเดียวตามวิสัยของฌานโดยเฉพาะ
อนึ่ง ของมากอย่างจะนับอะไรเป็นต้นขึ้นหนึ่งก่อนก็ได้ไม่มีปัญหา ส่วนข้อสุดท้ายเป็นเพียงมีคุณพิเศษสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจเท่านั้น แต่วิปัสสนาญาณนี้ ถ้าฌานที่เป็นรากฐานกล้ามากก็อาจให้เกิดวิปลาสไปได้ง่ายด้วย พึงเข้าใจว่าถ้าเป็นปัญญาวิปัสสนาเกิดแต่สมาธิแล้ว ก็ต้องขึ้นสู่ไตรลักษณะ เอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ทีเดียว
วิสุทธิ ๗ เกิดแต่สมาธิ
๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
วิสุทธิ ๗ นี้จะเกิดได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลักก่อน ถ้าหาไม่ก็จะไม่เกิดเลย วิสุทธิข้อต้น คือ ศีล ถ้าสมาธิไม่เป็นหลักยืนตัวอยู่แล้ว จะเป็นศีลวิสุทธิไม่ได้ วิสุทธิ ๗ นี้เหมือนกับวิปัสสนาญาณ ๙ เมื่อจะเกิดหาได้เกิดขึ้นตามลำดับไม่ อาจเกิดวิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ และแล้วจะเกี่ยวเนื่องกันไปทั้ง ๗ เหมือนลูกโซ่ เพราะวิสุทธิทั้ง ๗ จัดเข้าขั้นมรรค เป็น
โลกุตตระ แต่ถ้าสมาธิอ่อน จิตก็จะน้อมเข้าไปหาฌาน ซึ่งเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ อาจเกิดขึ้นในระหว่างวิสุทธิใดวิสุทธิหนึ่งได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ปัญญาวิปัสสนาก็จะพิจารณาไตรลักษณะไม่ได้ และจิตก็จะเข้ายึดเอาอารมณ์ของอุปกิเลสนั้นต่อไป
อุปกิเลส ๑๐ คือ โอภาส แสงสว่าง ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบสงัดจากอารมณ์ภายนอก สุข ความสุข อธิโมกข์ น้อมใจเชื่อในนิมิตและเหตุนั้นๆ
ปัคคาหะ เพียรกล้า อุปัฏฐาน มีสติแข็งแกร่ง อุเบกขา จิตเป็นกลางวางเฉย และ นิกันติ ยินดีชอบใจ อุปกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ย่อมเป็นอุปสรรคของพระโยคาวจร ผู้กำลังเดินมรรคอยู่
โทษของอุปกิเลส ๑๐
ลักษณะอาการและการละกิเลส เป็นต้น ของฌานและสมาธิ ผิดกันดังแสดงมา ฌานมีความน้อมเชื่อมาก วิริยะและปีติแรง กำลังใจกล้า โลดโผนทุกๆ อย่าง สรุปแล้ว เมื่อจิตน้อมไปตามอารมณ์ของฌาน ถ้าผู้ติดฌานหลงฌานอย่างหนักหน่วงแล้ว จิตของตนแทบจะไม่เป็นตัวของตัวเองเสียเลยก็ว่าได้ ที่จริงฌานเมื่อเกิดขึ้นเป็นของน่าตื่นเต้น ผู้ฝึกหัดใหม่จึงชอบนัก แต่ฌานเป็นของได้ง่ายพลันหาย เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม ๘ ส่วนสมาธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นไปอย่างเรียบๆ เพราะมีสติรอบคอบตามภูมิของตน และยึดเอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ไม่หลงลืมตัว ค่อยได้ค่อยเป็นไปละเอียดลงโดยลำดับ ได้แล้วไม่ค่อยเสื่อมเป็น
โลกุตตรธรรม บางคนจะไม่รู้สึกตื่นเต้นในเมื่อตนได้สมาธิ เพราะไม่ได้คำนึงถึงอาการที่ตนได้มี แต่ตั้งหน้าจะทำสมาธินั้นให้มั่นและละเอียดถ่ายเดียว ฌานเป็นของน่าสนุกสนาน มีเครื่องเล่นมาก มีเรื่องแปลกๆ ทำให้ผู้ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงหลงติดจมอยู่ในฌาน อาการที่จิตหลงติดจมอยู่นั้นคือโทษ ของอุปกิเลส ๑๐ พึงสังเกตต่อไป
โอภาส แสงสว่างย่อมปรากฏในมโนทวารวิถี ขณะเมื่อจิตเข้าถึงฌาน (ภวังค์) เมื่อจิตน้อมเชื่อไปตามแสงสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ขยายวงกว้างออกไป มีอาการแปลกๆ ต่างๆ เหลือที่จะพรรณา
ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ บางทีจนกำหนดตามไม่ทัน ไม่ทราบว่ารู้อะไรบ้าง ทั้งสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น ทั้งสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น มิใช่รู้อยู่กับสิ่งที่รู้ ยังสอดส่ายไปตามอาการตลอดถึงคนอื่น สัตว์อื่น ทีแรกจริงบ้างไม่จริงบ้าง นานๆ เข้าก็เหลว
ปีติ ทำให้อิ่มใจจนลืมตัว
ปัสสัทธิ ทำให้สงบจากอารมณ์ภายนอก กลับเข้ามายุ่งอยู่กับอารมณ์ภายในจนไม่เป็นอันกินอันนอน เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า ธาตุย่อมกำเริบ จิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ
สุข ทำให้สบายอยู่ด้วยอาการทั้งหลายดังกล่าวมา ถึงกับไม่ต้องรับประทานข้าวน้ำก็มี
อธิโมกข์ ทำให้เกิดจิตน้อมเชื่อไปในนิมิตและแสงสว่าง ความรู้มีมากเท่าไร อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ก็ยิ่งมีกำลังรุนแรงทวีขึ้น
ปัคคาหะ ทำให้เพียรกล้าไม่หยุดหย่อนท้อถอย มีญาณความรู้คอยกระซิบตักเตือนให้ทำอยู่เสมอ
อุปัฏฐาน ช่วยให้สติแข็งแกร่งอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้น แต่ขาดสัมปชัญญะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร
ถ้าอุปกิเลสทั้ง ๘ ตัวดังกล่าวมาหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งยังเกิดมีอยู่ อุเบกขา(ในวิปัสสนูปกิเลส)ก็จะไม่เกิด ถ้าทั้ง ๘ นั้นสงบลงแม้ชั่วขณะหนึ่ง อุเบกขา และ นิกันติ จึงจะเกิดขึ้น
อุปกิเลส ๑๐ นี้มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ เรื่องทั้งนี้เคยมีมาแล้วในอดีต หากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจ มุ่งส่งเสริมศิษย์ให้ยึดเอาเป็นของจริงแล้วก็จะทำให้ศิษย์เสียจนแก้ไม่ตก เมื่อมีเรื่องวิปลาสเกิดขึ้นเช่นนั้น ผู้รู้เท่าและเคยผ่านมาแล้วจึงจะแก้ได้
วิธีแก้วิปลาส
อาจารย์ผู้สอนก็ดี ลูกศิษย์ผู้เจริญภาวนาก็ดี เมื่อเข้าใจวิถีจิตที่เข้าเป็นฌานแล้ว จงระวังอุปกิเลส ๑๐ จะเกิดขึ้น ถ้าจิตเข้าถึงฌานแล้ว อุปกิเลสไม่ทั้งหมดก็อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นสำหรับนิสัยของบางคน แต่บางคนก็ไม่มีเลย ถ้ามันเกิดขึ้นเราควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. เมื่ออุปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงทำความรู้เท่าว่า นี่เป็นอุปกิเลสเป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนาปัญญา และอุปกิเลสนี้เกิดจากฌานหาใช่อริยมรรคไม่ ถึงแม้วิปัสสนาญาณ ๙ แปดข้อเบื้องต้นก็เช่นเดียวกัน อย่าได้น้อมจิตส่งไปตามด้วยเข้าใจว่าเป็นของจริงของแท้ พึงเข้าใจว่านั่นเป็นแต่เพียงภาพอันเกิดจากมโนสังขาร คือจิตปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจของฌานเท่านั้น พึงหยิบยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสินว่า อุปกิเลสทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฌาน ฌานก็เป็นโลกิยะ อุปกิเลสก็เป็นโลกิยะ โลกิยะทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรนั้นแหละเป็นทุกข์ เพราะทนต่อความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ แล้วก็แตกสลายดับไปตามสภาพของมันเอง ซึ่งไม่มีใครจะมีอำนาจห้ามปรามไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งเรียกว่า อนัตตา เมื่อยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสิน ถ้าจิตเกิดปัญญาน้อมลงเห็นตามพระไตรลักษณะแล้ว จิตก็จะถอนออกจากอุปาทานที่เข้าไปยึดอุปกิเลสนั้น แล้วจะเกิดปัญญาญาณเดินตามทางอริยมรรคได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าแก้อย่างนั้นด้วยตนเองไม่ได้ผล คนอื่นช่วยแก้ก็ไม่สำเร็จ เพราะผู้เป็นหลงเข้าไปยึดมั่นสำคัญเอาเป็นจริงเป็นจังเสียแล้ว บางทีจนทำให้ซึมเซ่อมึนงงไปหมดก็ดี จึงควรใช้วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย
๒. เมื่อรู้เท่าทันและเห็นโทษอย่างนั้นแล้ว จงคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้ และอย่ายึดเอาอารมณ์ใดๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ แล้วจงเปลี่ยนอิริยาบถ ๔ ให้เสมอ อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย แต่ถ้าจิตรวมลงไปจนเกิดวิปลาสขึ้นแล้ว จิตเข้าไปยึดถือจนแน่นแฟ้นจนสำคัญตัวว่าเป็นผู้วิเศษไปต่างๆนานา มีทิฐิถือรั้นไม่ยอมฟังเสียงใครๆ ทั้งหมด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ยากที่จะแก้ตัวเองได้ ถึงแม้อาจารย์หากไม่ชำนาญรู้จักปมด้อยของศิษย์ หรือไม่เคยผ่านเช่นนั้นมาก่อนแล้ว ก็ยากที่จะแก้เขาได้ ฉะนั้น จึงควรใช้ ...
วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย คือใช้วิธีขู่ขนาบให้กลัวหรือให้เกิดความโกรธอย่างสุดขีดเอาจนตั้งตัวไม่ติดยิ่งดี แต่ให้ระวังอย่าให้หนีได้ ถ้าหนีไปแล้วจะไม่มีหนทางแก้ไขเลย เมื่อหายจากวิปลาสแล้วจึงทำความเข้าใจกันใหม่ วิธีสุดท้ายนี้ โดยมากมักใช้กับผู้ที่ติดในภาพนิมิตได้ผลดีเลิศ ผู้ที่หลงติดในภาพนิมิต มีหัวรุนแรงกว่าความเห็นวิปลาส ฉะนั้น วิธีแก้จึงไม่ค่อยผิดแผกกันนัก
ผนวก
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสรุปแล้วมี ๓ คือ สอนให้ละบาป ๑ สอนให้บำเพ็ญกุศล ๑ สอนให้ชำระใจของตนให้สะอาดผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ๑ และวางแนวการสอนให้เข้าถึงหลัก ๓ นั้น ๕ ประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นการสอนให้เป็นผู้ยอมสละทั้งวัตถุและกิเลส อันเป็นเหตุทำให้สัตว์และมนุษย์เดือดร้อนอยู่เป็นนิตยกาล
การเจริญฌานและสมาธิ แม้จะเดินทางสายเดียวกัน แต่เวลาถึงย่อมมีลักษณะอาการและประโยชน์ต่างกัน นั่นก็เป็นการฝึกหัดให้เป็นผู้มีจิตยอมสละ สิ่งอันสละได้ยากยิ่ง ก็คือ อุปาทานขันธ์ ดังนั้น การฝึกหัดจะใช้กรรมฐานใดๆ มาเป็นอุบายฝึกหัด เป็นต้นว่า อนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ถ้าปล่อยวาง อุปาทานขันธ์ ทั้งภายนอกและภายในได้แล้วก็ใช้ได้ ถ้าปล่อยไม่ได้ก็เป็นโมฆะคือไร้ผล
พระศาสดาได้เสด็จอุบัติขึ้นในภพในขันธ์ และสาวกก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่คำสอนของพระองค์สอนให้ละภพละขันธ์อันเป็นโลกิยะจนเข้าถึงโลกุตตระ ดังนั้นธรรมอุบายที่จะให้ละจึงมีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ แม้ปัญญาซึ่งเกิดแต่การฝึกหัดนั้นก็มีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเหมือนกัน จึงเป็นการยากแก่ผู้ที่มีภูมิ (คือฌานและสมาธิ) ไม่เพียงพอ ปัญญาไม่ละเอียดพอ จะเฟ้นเอาสาระประโยชน์จากชีวิตอันนี้ได้ ถ้าหลงเข้าใจผิดยึดเอาสิ่งที่มิใช่สาระว่าเป็นสาระแล้ว ก็ลงเอวังกันเลย
ผู้ปฏิบัติพึงระลึกเสมอว่า ภพกายหลงง่ายละยาก ภพจิตหลงยากละยาก นิมิตและญาณที่เกิดแต่ฌานก็หลงง่ายละยาก แต่ที่เกิดแต่สมาธิหลงยากละง่าย เพราะเกิดแต่สมาธิเป็นอุบายของปัญญาเพื่อให้ละถอนอุปธิเข้าถึงสารธรรมโดยตรง